แนะนำ BuJo เมื่อชีวิตอยากติด Analog
มันมีสิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยมานานหลายปีละว่าทำไมหลายคนถึงติดสมุด Moleskine มากๆ ทั้งๆ ที่มันก็ดูเหมือนสมุดธรรมดาๆ เล่มนึง ที่อาจจะมีเส้น ไม่มีเส้น เป็นตาราง ฯลฯ หลังจากถามไถ่หลายคนก็ยังไม่เคลียร์เพื่อคลายความสงสัยนั้น ผมเลยซื้อมาหนึ่งเล่มครับแล้วหลังจาก 3 เดือนที่ผ่านมา ผมค้นพบว่ามันก็สมุดธรรมดาๆ นี่แหละ แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดามันเกิดขึ้นหลังจากนั้นครับ
ตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ผมไม่ใช่คนประเภทใช้สมุดครับ ตั้งแต่ปี 2 แล้วผมได้ Thinkpad Edge 11 มาผมก็อยู่บน Evernote มาตลอด อาจจะเปลี่ยนไปใช้ OneNote ตอนอยู่ปีสี่บ้าง จนมาถึงทำงานที่ใช้ Bear หรือไม่ก็สร้างไฟล์จดลง git repo ตัวเองผมไม่เคยคิดจะกลับไปใช้สมุดเลยครับ ทุกอย่างจะสามารถ Search หาได้มี hashtag / group อะไรเก็บไว้อย่างเป็นระบบ หลายตัวเขียน Markdown ได้หรือมี Format ที่ทำให้เขียนแล้วดูดีขึ้นไปอีก
ซึ่งจดอย่างนี้มันก็ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ ไม่ได้จะบอกว่าเห้ยจดแบบนี้มันไม่ดีนะ แต่คือผมอยากลองอะไรใหม่ๆ ไง
นอกจากเรื่องจดอีกเรื่องนึงคือ Todo list ครับ หลายต่อหลายปีมากที่ผมพยายามจะอยู่กับ App todo list แต่สุดท้ายแล้วอยู่กับ App ไม่รอดถึงมันจะ Sync หลาย Platform มีฟีเจอร์เตือน นั่นนู่นนี่ก็เหอะ ไม่รอดครับ เพิ่งรู้ตัวว่า Todolist ที่รอดสำหรับผมคือ ใช้แล้วทิ้ง นั่นก็คือ เขียนลง Post-it เวิร์คสุด
กลับมาต่อหลังจากได้สมุด ผมคิดหนักมากครับว่าจะจดไรดีวะ มีตั้งร้อยกว่าหน้าจะใช้ยังไงหมด ที่เคยได้ยินมาก็รู้จักแค่ Cornell method ที่แบ่งๆ ช่องในหน้าเวลาจด แต่คือก็ไม่ได้ประชุมบ่อยขนาดนั้นไง
ระหว่างที่นั่นงงงวยกับตัวเอง ผมก็เปิดไปเจอเว็บ http://bulletjournal.com/ ทำให้ผมรู้จักว่า เห้ย มันมีคนคิดระบบที่ทำให้เราใช้สมุดด้วยหวะ (คือเอาจริงๆ ก็เคยเห็นพวกสมุด Yearly Planner อะไรพวกนี้นะ แต่ไม่เคยคิดจะใช้เลย เพราะว่ามันรู้สึกบังคับเกินไป)
รู้จัก Bullet Journal (BuJo)
Bullet Journal ถูกคิดค้นโดยพ่อหนุ่มนามว่า Ryder Carroll และไม่ใช่ปุปปับจะคิดได้มาขนาดนี้นะ แต่ System นี้ถูกคิดและลองผิดลองถูกมาหลายปีกว่าจะเกิดมาเป็น BuJo อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน สมุดพวก Yearly Planner หรือ Journal อย่างที่ผมบอกครับ ส่วนใหญ่มันจะตีเส้น ตาราง ฯลฯ อะไรมาให้เป็น Structure แล้วซึ่งมันซับซ้อนเกินไปและใช้เวลากับความคิดเยอะกว่าจะจดได้ มันเลยเกิดเทคนิคที่เรียกว่า Rapid Logging ขึ้นมาครับซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 4 อย่างคือ Topics, Page number, Short sentences และ Bullets ครับ
- Topics ก็ตรงตัวครับ ก่อนจะเขียนอะไรก็ต้องมีหัวข้อก่อน เอาที่เข้าใจง่าย อ่านรอบเดียวเข้าใจเลยว่าที่เหลือคือเรื่องอะไร
- Page Number อันนี้สำคัญมากครับและผมเพิ่งมาเข้าใจตอนที่คุยกับคนอื่นเวลาบอกว่าไม่ชอบใช้สมุดเพราะหาไม่เจอ สิ่งนี้แหละครับคือตัวแก้ปัญหา ใส่เลขหน้าให้มันซะ แล้วทำสารบัญ แค่นี้ก็หาเจอแล้วครับ
- Short Sentences ประโยคสั้นๆ ก็ประโยคสั้นๆ ครับอาจจะเป็นงานที่ต้องทำ, นัดหมาย บันทึกช่วยจำ เป็นอะไรก็ได้ครับ ขอแค่สั้นๆ พอ
- Bullets สิ่งนี้คือพระเอกของเราเลยครับ เวลาเราจดอะไรปกติเราจะมีขีดหรือจุดเอาไว้แยกประโยคใช่มั้ยครับ แต่ใน System นี้จุดนี้มีหลายแบบ หลายความหมายครับ ซึ่งอันนี้แล้วแต่คนจะ define เลย แต่ก็จะมีแนวทางหลักๆ ที่คน ใช้กันเยอะอย่างเช่น
· อันนี้ผมจะแทนงานที่ต้องทำหรือ Todo
X อันนี้คืองานที่ทำเสร็จแล้ว ปกติคือเขียนทับตัวข้างบน
> อันนี้เป็นงานที่ไม่เสร็จแล้วต้องย้ายไปวันอื่น
- อันนี้เป็นโน๊ตครับ
° จริงๆ อยากจะเขียนว่าจุดที่มันกลวง อันนี้คือ Event ครับ
นอกจาก Rapid Logging แล้ว System นี้ยังมีส่วนประกอบอีกอย่างเราเรียกมันว่า Module ครับ ซึ่งอันนี้ค่อนข้างจะเหมือนๆ กันทุกคนถ้าใช้ BuJo โดยจะประกอบด้วย 3 ส่วนๆ หลักๆ คือ
- Index หรือสารบัญนั่นแหละครับใช้ประกอบกับ Page Number ที่ผมพูดถึงข้างบนสิ่งนี้จะช่วยให้เราหาของที่อยู่ในเล่มได้ง่ายโคตรๆ เหมือนเรากำลังเขียนหนังสือเล่มนึงเลย
- Future Log อันนี้เอาไว้ใส่อะไรก็ตามที่ต้องทำที่ต้องวางแผนล่วงหน้าหลักเดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วคนจะนิยมเขียน Future Log อยู่ในหน้าเดียวกัน (ที่เป็นสองหน้า) แล้วแบ่งช่องไว้ 6 ช่องสำหรับ 6 เดือนครับ ซึ่งรูปแบบไม่มีตายตัวครับ บางคนอาจจะแบ่งช่องไว้เฉยๆ แล้วเขียนเดือนกำกับ แต่สำหรับผมผมเขียนปฏิทินไว้เลยครับ 1/4 ของหน้าแล้วแบ่งที่เหลือเอาไว้เขียน bullet มันทำให้ผมมองภาพรวมออกว่าว่างช่วงไหนบ้างด้วย เวลาใส่ก็วงวันที่ในเดือนไปด้วย
- Monthly Log หลักการเดียวกับ Future Log ครับ อันนี้เอาไว้ใส่อะไรที่จะเกิดขึ้นในเดือน ปกติแล้ว Title จะเป็นชื่อเดือนแล้วจะเขียนวันที่เรียงลงมาในหน้านั้นๆ ซึ่งส่วนตัวผมเองก็จะเขียนเต็มสองหน้าเหมือน Future Log ครับแต่จะแบ่งทางซ้ายเป็นวัน แล้วทางขวาจะเป็น Monthly Goal มันทำให้เห็นภาพรวมว่าเดือนนี้ต้องทำอะไรบ้างเร็วมาก
- Daily Log นอกจากจะซอยย่อยมาระดับเดือนแล้ว ยังซอยย่อยมาระดับวันอีกครับ คือเขียนวันที่ไปเลยว่าวันอะไรเป็นหัวข้อ แล้วข้างในก็ใส่อะไรลงไปเลยครับ ในส่วนนี้ผมลองมาทั้งแบบ เขียนวันต่อวัน กับตีตารางแบ่งสองหน้าเป็น Weekly Log เลยครับ ค้นพบว่าแบบที่ตีตารางแบ่งวันเป็น Weekly Log จะมีความรู้สึกอยากเขียนมากกว่า ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน
จดอย่างอื่นลงไปได้มั้ย?
ที่ผมไล่ตามระบบทั้งหมดมาข้างบนเป็นแนวทางครับ เราอยากจะเพิ่มจะลดอะไรก็เรื่องของเราเลย ซึ่งนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้ผมชอบมันมากๆ เพราะเราจะทำอะไรก็เรื่องของเรา ทีนี้คำถามคือเราจะเพิ่มอะไร ไอเดียมีเยอะมากครับอย่างส่วนตัวผมเองมี Mood Tracker มี จดบัญชีที่ลงทุนไว้บ้าง ฯลฯ ไม่มีกฏตายตัวครับ สมุดคือเอาไว้จด อยากจดอะไรก็จด แต่อย่าลืมทำ Index ก็พอครับ ไม่งั้นเดี๋ยวหาไม่เจอ
นอกจาก Index แล้วผมค้นพบว่ามันจะมีบางอย่างที่ทำให้เราหาของได้ง่ายๆ เช่นแปะ Post It อันเล็กๆ ที่เป็น Label ไว้ให้มันโผล่ออกมาบ้างของส่วนสำคัญๆ เช่นๆ Index / Future Log / Monthly Log จะได้เปิดได้เร็วกว่าต้องไปไล่หาใน Index อีก
สิ่งสำคัญที่สุด
จะจดให้สนุก สิ่งสำคัญคือหาแรงบันดาลใจครับ ลองดูคนอื่นว่าเค้าทำยังไง ผมได้ไอเดียดีๆ หลายอย่างมากมาจากการดูคนอื่นยกตัวอย่างเช่น Page Number ผมไปเห็นคนนึงเค้าเขียนเฉพาะเลขคู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ฉลาดโคตรๆ ทำให้เราไม่ต้องเขียนทุกหน้าแล้วเราเปิดดูแบบแง้มๆ ได้เลย หรืออย่าง Label ข้างบนนี่ผมก็เห็นคนอื่นทำมาอีกทีครับ แม้กระทั่ง Mood Tracker นี่ผมก็ไปดูคนอื่นทำแล้วมันน่าสนใจดีเลยลองทำเองมั่ง
ถ้าสนใจในเว็บไซต์ของ bulletjournal เองมี newsletter ให้เราอัพเดทเทคนิคใหม่ๆ ตลอดครับ หรือถ้าอยากอ่านเองตัวเว็บไซต์ก็มี Blog ที่จะมี Show Case ของแต่ละคนเรื่อยๆ เช่นกัน
นอกจากเว็บไซต์หลักเองแล้วผมดูในไอจีครับตามแท๊ก #bujo กับ #bulletjournal เลยครับ จะได้ไอเดียใหม่ๆ กับได้เห็นคนจดสวยๆ เยอะมาก
หรือใน Youtube ลอง Search ว่า bullet journal ก็จะเจอคนทำคลิปในการ Setup สมุดไว้เยอะมากเลยครับ ส่วนตัวผมชอบ Channel ของ AmandaRachLee เพราะเค้าทำเรื่องนี้เป็นหลักเลย
หมดแล้วครับ อยากบอกว่าลองจดดูซักอาทิตย์ แล้วคุณอาจจะเลิกใช้ Todo app, calendar app ไปเลยขอให้สนุกกับการจดครับผม
ปล.สุดท้ายมันไม่ได้เกี่ยวกับสมุด Moleskine เลยครับ แต่เป็นเรื่องระหว่างทางที่ทำให้ผมไปเจอ BuJo นี่แหละ